เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 20 กรกฎาคม 2562 โดย นางสาวหนึ่งฤทัย แสงใส จำนวนผู้เข้าชม 2134 คน
สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดโครงการติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการให้บรรลุเป้าหมาย กรณีพื้นที่ดำเนินงานบ้านป่างิ้ว หมู่ที่ 4 ตำบลทาเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินงานโดย คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 เยี่ยมชมพื้นที่การดำเนินงานและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงาน โดย ผศ.ผศ.ดวงพร อ่อนหวาน และบุคลากรสถาบันฯ ซึ่งปีงบประมาณ 2562 มีกิจกรรมที่ดำเนินงานแล้วดังนี้
1. ค้นหาอัตลักษณ์โลโก้ของบ้านป่างิ้ว จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและหารือร่วมกับตัวแทนชาวบ้าน เยาวชนในการคัดเลือกมาสคอต ที่มาจากอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านป่างิ้วโดยทางคณะทำงานได้ให้นักศึกษาออกแบบมาสคอตมาจำนวน 6 แบบตามแนวคิดในการทำประชาคมร่วมกันและนำไปสู่การออกแบบกราฟิกในคอมพิวเตอร์เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จากนั้นได้นำแบบกราฟิกทั้งหมดไปให้ตัวแทนชาวบ้านคัดเลือกมาสคอตมาเพียง 1 แบบเพื่อใช้เป็นตัวแทนของชุมชนบ้านป่างิ้ว พบว่า ตัวแทนชาวบ้านได้เลือกตัวการ์ตูนเด็กผู้หญิงกะเหรี่ยงที่แต่งชุดประจำเผ่าบริเวณศีรษะจะสวมหมวกรูปหมูป่า เป็นตัวแทนจากอัตลักษณ์ของชุมชน แต่ทั้งนี้ทางตัวแทนได้มีการแสดงความคิดเห็นในการเพิ่มเติมโลโก้ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้นคือ การทำตัวการ์ตูนเป็น 2 รูปแบบคือ เด็กผู้หญิง และเด็กผู้ชาย โดยเด็กผู้หญิงสวมใส่ชุดพื้นเมืองสีขาว ไม่มีลายและถือกล่องข้าว สำหรับเด็กผู้ชายสวมใส่ชุดพื้นเมืองสีแดงลายต๊ะสิคริ ซึ่งเป็นลายประจำของเผ่ากะเหรี่ยงบ้านป่างิ้วตั้งแต่ดั้งเดิม และถือข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของบ้านป่างิ้ว
2. การสร้างแลนด์มาร์คโดยการทำซุ้มไม้ไผ่ จากการลงพื้นที่สำรวจจุดสำหรับใช้ในการสร้างแลนด์มาร์คเพื่อหาจุดเด่นและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้กับชุมชนบ้านป่างิ้ว โดยคณะทำงานเล็งเห็นความสามารถและความเชี่ยวชาญในการทำงานจักสานของชาวบ้านจึงมีแนวคิดหารือร่วมกับชาวบ้านในการจัดทำเป็นรูปแบบของ ซุ้มไม้ไผ่ขนาดใหญ่บนพื้นที่ส่วนทางเข้าของหมู่บ้านโดยใช้รูปแบบเป็นรูปหมูป่าซึ่งเป็นสัตว์ที่ประจำท้องถิ่นของหมู่บ้านโดยจะใช้พื้นที่ทำนาของชาวบ้านบางส่วนในการจัดทำแลนด์มาร์คดังกล่าวให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนบ้านป่างิ้วและผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ของชุมชนด้วย เนื่องจากเป็นความต้องงการทีสอดคล้องกับแนวคิดของผู้นำชุมชน ที่ต้องการสร้างจุดสนใจ เพื่อต่อยอดในการสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีที่ทางหน่วยงานภาครัฐผลักดันและสนับสนุน
ส่วนกิจกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากอัตลักษณ์ชุมชน การทำบัญชีต้นทุน การออกแบบลายทอผ้า และการใช้สื่อมัลติมีเดียร์ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ทั้งนี้คณะทำงานได้ให้ข้อเสนอแนะกระบวนการดำเนินงานปี 2562 และแนะนำการเขียนข้อเสนอโครงการ ปี 2563 อีกด้วย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา