โลโก้เว็บไซต์ พิธีสมโภชองค์มหากฐิน มทร.ล้านนา ประจำปี 2562 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

พิธีสมโภชองค์มหากฐิน มทร.ล้านนา ประจำปี 2562

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 1 พฤศจิกายน 2562 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 7969 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

(คลิกชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เวลา 16.30 น. รองศาสตราจารย์ศีลศิริ  สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร จัดพิธีสมโภชองค์มหากฐิน มทร.ล้านนา ประจำปี 2562 ณ ศาลาราชมงคล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  โดยได้รับเมตตาจากพระสมุห์พอใจ ฉนฺทโก เจ้าอาวาสวัดช่างเคี่ยน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในการแสดงธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยผ้ามหากฐิน จะนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดช่างเคียน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 

 ความหมายของกฐิน

       กฐินเป็นศัพท์บาลี แปลตามศัพท์ว่าไม้สะดึง คือ "กรอบไม้" หรือ "ไม้แบบ" สำหรับขึงผ้าที่จะเย็บเป็นจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บสำเร็จจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้เรียกว่า ผ้ากฐิน (ผ้าเย็บจากไม้แบบ)

       กฐินที่เป็นชื่อของผ้า หมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าที่มีผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์ แล้วก็เป็นอันใช้ได้

       กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญ คือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบไตรมาส เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด  การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก 

       กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรม คือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4

       ประวัติของกฐิน
       ภิกษุชาวเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ได้เดินทางเพื่อมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี แต่ยังไม่ทัน ถึงเมืองสาวัตถี ก็ถึงวันเข้าพรรษาเสียก่อน พระสงฆ์ทั้ง 30 รูป จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกตุในระหว่างทาง พอออกพรรษาแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงได้ออกเดินทางมาเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วยความยากลำบากเพราะฝน ยังตกชุกอยู่ เมื่อเดิน ทางถึงวัดพระเชตวัน พระพทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทราบความลำบากนั้นจึงทรงอนุญาต ให้ภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาสสามารถ รับผ้ากฐินได้ ประเพณีทอดกฐินจึงได้เกิดขึ้น ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา

       ประเพณีทอดกฐินในปัจจุบัน
      พิธีทอดกฐินสามัคคี ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยทำบุญตักบาตรพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ณ อาวาสดังกล่าวในช่วงเช้าบางวัดจัดพิธีทอดกฐินต่อจาการตักบาตร ขึ้นในช่วงสายและต่อด้วยการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์บางวัดจัดให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาในช่วงสายเพื่อกลั้นกาย วาจา ใจ ให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ การทอดกฐินจะทำในช่วงบ่าย  โดยธรรมเนียมแล้ว มักมี “บริวารกฐิน” เพื่อถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ซึ่งไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายภายในวัดเป็นค่าน้ำค่าไฟตลอดทั้งปี รวมทั้งค่าก่อสร้างถาวรวัตถุซ่อมแซมเสนาสนะ และต่อเติมเสริมใหม่กิจการ พระศาสนาขยายตัวได้อย่างมี ประสิทธิภาพ  กิจกรรมที่มาพร้อมกับประเพณี กฐินคือ “ขบวนอัญเชิญผ้ากฐิน” ซึ่งขึ้นกับแต่ละวัด แต่ละท้องถิ่นจะบรรลุสิ่งสวยงาม ทรงคุณค่า คู่ควรกับความสำคัญของพิธีทอดกฐินซึ่งจัดพียงปีละครั้ง ริ้วขบวน อาจประกอบด้วย ขบวนธงธิว ถ้าภาคเหนืออาจเป็นตุง ขบวนพานพุ่มดอกไม้ โดยใช้ทั้งสาธุชนและบุตรหลานเยาวชนมา ร่วมขบวน ซึ่งแสดงถึงภูมิปัญญาของไทยที่หล่อหลอมให้เยาวชนได้เข้าวัดเข้าวาวัดตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

       การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากกว่าบุญอื่น ด้วยสาเหตุหลายประการ คือ
       1. จำกัดกาลเวลา คือ ต้องถวายภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษา
       2. จำกัดชนิดทาน คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้นจะถวายเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้
       3. จำกัดคราว คือ แต่ละวัดรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้ง เท่านั้น จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุผู้รับกฐินได้จะต้องจำพรรษา ที่วัดนั้นครบไตรมาส (3 เดือน) และต้องมีจำนวนตั้งแต่ 5 รูปขึ้นไ
       4. จำกัดงาน คือ เมื่อพระภิกษุรับผ้ากฐินแล้ว จะต้องกรานกฐินให้เสร็จภายในวันนั้น
       5. จำกัดของถวาย คือ ไทยธรรมที่ถวายต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวรเท่านั้น โดยทั่วไปนิยมใช้สังฆาฏิ ไทยธรรมอื่นจัดเป็นบริวารกฐิน เกิดจากพุทธประสงค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้ากฐินเพื่อผลัดเปลี่ยนไตรจีวรเก่า

ข้อมูลจากศูนย์วัฒนธรรมศึกษา มทร.ล้านนา (คลิกชมภาพกิจกรรมเพิ่มเติม)







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา