โลโก้เว็บไซต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน   จัดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชน | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน จัดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชน

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 28 กันยายน 2559 โดย น้ำฝน สุทธิกุญชร จำนวนผู้เข้าชม 2393 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรชัย ล้อทองคำ           อาจารย์เชาวลีย์ ใจสุข และอาจารย์ปกรณ์ สุนทรเมธ ได้ทำการจัดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชน จากงานวิจัยเรื่อง การสำรวจความหลากชนิดปลาในแม่น้ำปัว จังหวัดน่านซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยผลจากการวิจัยพบว่ามีชนิดปลาแพร่กระจายในแม่น้ำปัวไม่น้อยกว่า ๕๙ ชนิด ซึ่งปลาบางชนิดสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดไปสู่การเพาะเลี้ยงเพื่อสร้างเป็นอาชีพทางเลือกให้กับคนในชุมชนในอนาคตได้  บางชนิดมีความสวยงามเหมาะที่จะนำมาเป็นปลาสวยงาม  บางชนิดเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพน้ำของแม่น้ำปัวได้เป็นอย่างดี บางชนิดเป็นปลาประจำถิ่น บางชนิดก็เป็นปลาที่ไม่สามารถพบได้จากแหล่งน้ำอื่น ๆ ในระบบแม่น้ำเจ้าพระยา (first record) และบางชนิดเป็นปลาต่างถิ่นที่สามารถส่งผลกระทบต่อปลาท้องถิ่น  

          ในการจัดเวทีครั้งนี้ได้ดำเนินการในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ณ โรงเรียนบ้านส้าน(คุรุราษฎ์รังสรรค์) ตำบลน้ำสถาน อำเภอปัว จังหวัดน่าน โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้ในจำนวนทั้งสิ้น ๗๓ คน ซึ่งประกอบไปด้วย คณะครู และนักเรียนระดับมัธยมต้น ซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับปลาในแม่น้ำปัวให้แก่ชุมชนในครั้งนี้ ถือว่าเป็นงานวิจัยต้น ๆ ที่ชุมชนได้รับรู้ถึงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนที่ครอบคลุมพื้นที่ของแม่น้ำปัว และได้จุดประเด็นต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น การอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่ถูกต้อง  ผลกระทบของปลาต่างถิ่นที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติของท้องถิ่น เป็นต้น  นอกจากนี้งานวิจัยนี้ยังได้แสดงให้ชุมชนได้เห็นบริบทต่าง ๆ ที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติของแม่น้ำปัว ได้แก่ (๑) ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ป่าต้นน้ำจากการทำการเกษตร (๒) ระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่ยังไม่ดีพอ (๓) การใช้ยาและสารเคมีเพื่อการเกษตรในปริมาณสูง และ (๔) การขุดทราย  ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศและแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาอย่างสิ้นเชิง ซึ่งปัญหาทั้งหมดส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อคุณภาพน้ำ สัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ และทุกคนในชุมชน

                    สำหรับงานวิจัยนี้ได้รับความร่วมมือและอำนวยความสะดวกจากชุมชนทั้ง ๗ ชุมชนที่เข้าไปทำการศึกษาวิจัย ดังนั้นคณะวิจัยจึงขอขอบคุณคนในชุมชนทั้ง ๗ ชุมชนเป็นอย่างสูง และในการนี้คณะวิจัยขอขอบพระคุณสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ ที่สนับสนุนทุนวิจัย และขอขอบคุณฝ่ายวิจัย กองการศึกษาน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ที่ได้สนับสนุนให้งานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon