โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมงานวันสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี ๒๕๕๙ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

มทร.ล้านนา ร่วมงานวันสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประจำปี ๒๕๕๙

เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 1 ตุลาคม 2559 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 3854 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอนันท์ ทับเกิด ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ  นายอัคค์สัจจา ดวงสุภาสิญจ์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ ในนามผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วยคณะกรรมการสโมสรนักศึกษาและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมพิธีวันสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ณ ห้องราชพฤกษ์ ๑ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชการที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี วันที่ ๑ ตุลาคม เพื่อน้อมรำลึกและสำในพระมหากรุณาธิคุณ  โดยได้รับเกียรติจาก นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีนำเจ้านายฝ่ายเหนือ กงสุลต่างประเทศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ สมาคม ชมรม สโมสร นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทุกหมู่เหล่า ประกอบพิธีวางพวงมาลาถวายบังคมพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  และอ่านคำสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตามลำดับ  โดยพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สำคัญได้แก่

 ด้านการทํานุบํารุงบ้านเมือง

ได้มีการปฎิรูปการปกครองเฉพาะในด้านประเพณีที่มีมาแต่เดิมๆ อย่างเช่น ปรับปรุงประเพณีการเข้าเฝ้า มีพระบรมราชโองการให้ทุกคนสวมเสื้อเข้าเฝ้า โปรดให้ราษฎรเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด และถวายฎีการ้องทุกข์ทุกวันโกนเดือนละ ๔ ครั้ง โดยพระองค์ท่านจะเสด็จออกมารับการร้องทุกข์นั้น

 ด้านกฎหมาย มีกฎหมายที่ออกในรัชกาลนี้มาก มีทั้งกฎหมายอาญาหลวง และมีประกาศเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ด้านศาล ยังมิได้มีการรวบรวมเป็นกระทรวงเดียวกัน แต่โปรดให้ตั้งศาลต่างประเทศระหว่างคนไทยกับต่างประเทศ และให้เกิดมีศาลกงศุลขึ้นเป็นครั้งแรก

ด้านการทหาร โปรดให้มีการฝึกหัดทหารแบบยุโรป โดยจ้าง "ร้อยเอกอิมเปย์" นายทหารนอกราชการของกองทัพบกอังกฤษ ประจําประเทศอินเดียมาเป็นครูฝึก พ.ศ. ๒๓๙๔  ได้จัดกองทหารประจําพระองค์ออกเป็น ๒ กอง คือ "กองทหารรักษาพระองค์" ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม และ "กองทหารหน้า" ทหารเรือ มีการสร้างเรือชนิดที่ใช้เครื่องจักรกลขึ้น และทรงตั้งกรมเรือกลไฟ ตํารวจ มีตํารวจพระนครบาลขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ การตัดถนนและขุดคลอง โปรดให้สร้างถนนขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๐๔  ถนนเจริญกรุงเป็นสายแรก

การขุดคลอง มีการขุดคลอง เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ และคลองดําเนินสะดวก

ด้านการศาสนา พระราชกรณียกิจที่สําคัญในการทํานุบํารุงพุทธศาสนา คือ ทรงให้กําเนิดธรรมยุติกนิกาย มีการสร้างพระอารามหลวง มี ๕ พระอารามได้แก่ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดประทุมวนาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตย์มหาสีมาราม วัดมกุฎกษัตริยาราม

ด้านวรรณคดี และกวีพระราชนิพนธ์ที่สําคัญได้แก่

๑. ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

๒. บทระบํา

๓. บทละครเรื่องรามเกียรติ์

๔. บทเบิกโรงละครหลวง

๕. โคลงพระราชทานพร

๖. จารึกวัดราชประดิษฐ์

๗. ชุมนุมพระบรมราชาธิบาย หมวดภาษา และวรรณคดี กวีในรัชสมัย เช่น พระยาอิศรานุภาพ หม่อมราโชทัย คุณสุวรรณ

ด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นแบบตะวันตก เช่น พระราชวังสราญรมย์ จิตรกรรม มีปรากฎอยู่ในพระอุโบสถ และพระวิหารวัดบวรนิเวศน์ ปฎิมากรรม มีการหล่อพระพุทธรูป  

ด้านการศึกษา โปรดจ้างแหม่มเลียวโนเวนส์ มาจากสิงคโปร์ เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และพระราชโอรสพระราชธิดา ด้วยทรงเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไปภายหน้า การติดต่อกับต่างประเทศ  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการติดต่อกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีการทําสนธิสัญญากับนานาประเทศ เริ่มด้วยรัฐบาลอังกฤษได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เจ้าเมืองฮ่องกงในขณะนั้นเป็นอัครราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นของสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย พร้อมด้วยเครื่องบรรณาการเข้ามาขอเจรจาทําสนธิสัญญาทางไมตรีมาทางเรือรบ สนธิสัญญาที่ทําขึ้นมีผลที่สําคัญบังเกิดขึ้นคือ ก่อให้เกิดสิทธิภาพนอกอาณาเขต และอนุญาตให้คนในบังคับอังกฤษสามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศไทย

การทูตของไทย พ.ศ. ๒๔๐๐ พระองค์ทรงโปรดให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ ( ชุ่ม ) เป็นอัครราชทูต อัญเชิญพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย ณ ประเทศอังกฤษ

ในปี  พ.ศ. ๒๔๑๑ พระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตําบลหว้ากอจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามที่พระองค์ทรงทํานายเอาไว้ว่า จะเกิดในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๑๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ หลังจากที่กลับมาแล้วก็ทรงประชวรหนัก และได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง เวลาทุ่มเศษ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ รวมพระชนมพรรษา ๖๔ พรรษาเสวยราชสมบัติได้ ๑๗ ปี มีพระราชโอรส และพระราชธิดา รวมทั้งสิ้น ๘๒ พระองค์

และในโอกาสเดียวกันนี้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เกียติถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับผู้บริหารและนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา





ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon