โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา น่าน ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ถวายแด่ พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ ๙” | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

มทร.ล้านนา น่าน ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” ถวายแด่ พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “ในหลวงรัชกาลที่ ๙”

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 14 พฤศจิกายน 2566 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 137 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

     วันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พชร สายปาระ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมอาจารย์และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายแด่ พระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “วันพระบิดาแห่งฝนหลวง” โดย นายกฤชเพรช เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็น ประธานพิธี นำคณะหัวหน้าส่วนราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ร่วมประกอบพิธี ณ หอประชุมวิษณุรักษ์ วิทยาลัยเทคนิคน่าน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
     เนื่องด้วยวันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงคิดค้นฝนเทียม เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรชาวไทยในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ซึ่งโครงการพระราชดำริฝนหลวง เป็นโครงการที่ก่อกำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและเกษตรกรรม อันเนื่องมาจากภาวะแห้งแล้ง มีสาเหตุมาจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติ กล่าวคือ ฤดูฝนเริ่มต้นล่าช้าเกินไป หรือหมดเร็วกว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงยาวในช่วงฤดูฝน
     จากพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทรงเห็นว่าภาวะแห้งแล้งได้ทวีความถี่และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะนอกจากความผันแปรและคลาดเคลื่อนของฤดูกาลตามธรรมชาติแล้ว การตัดไม้ทำลายป่ายังเป็นสาเหตุทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรและยังส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
     ประโยชน์จากโครงการฝนหลวง ที่เกิดจากพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชดำริโครงการฝนหลวง เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 นับตั้งแต่นั้น ทรงทุ่มเทคิดค้นวิจัยและพัฒนาการทำ “ฝนหลวง” จนประสบความสำเร็จ ฉะนั้น การขานนามพระองค์ว่า “พระบิดาแห่งฝนหลวง” ถือเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณหาใดเปรียบ พระองค์จะสถิตอยู่ในหัวใจพสกนิกรชาวไทยตลอดไป







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา