โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จัดอบรมพัฒนาผู้บริหารจัดการงานวิจัยด้านการศึกษา เสริมศักยภาพสู่ข้อเสนอโครงการวิจัยด้วยเทคโนโลยี GenAI สนับสนุนการพัฒนางานวิจัย | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน

มทร.ล้านนา จัดอบรมพัฒนาผู้บริหารจัดการงานวิจัยด้านการศึกษา เสริมศักยภาพสู่ข้อเสนอโครงการวิจัยด้วยเทคโนโลยี GenAI สนับสนุนการพัฒนางานวิจัย

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 2 กรกฎาคม 2568 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 161 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พัฒนาผู้บริหารจัดการงานวิจัย : จุดประกายศักยภาพการวิจัยด้านการศึกษา จากแนวคิดสู่ข้อเสนอโครงการวิจัย” ระหว่างวันที่ 2 – 3 กรกฎาคม 2568 ณ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานเสริมสร้างความเข้มแข็งและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการแผนงานโครงการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยพิธีเปิดและกิจกรรมในวันแรก (2 กรกฎาคม 2568) ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มทร.ล้านนา เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวถึงความสำคัญของการเสริมสร้างศักยภาพงานวิจัยด้านการศึกษา เพื่อให้บุคลากรสามารถสร้างข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีคุณภาพและเป็นรูปธรรม พร้อมด้วย อาจารย์รัตนพล พนมวัน ณ อยุธยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ร่วมกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการและกล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงานวิจัยจากทั้ง 6 พื้นที่ 4 คณะ 1 วิทยาลัยฯ ของมหาวิทยาลัย ทั้งแบบ Online  ผ่าน โปรแกรม Meeting Zoom และ แบบ Onsite ซึ่งการอบรมครั้งนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของ มทร.ล้านนา ในการสร้างนักวิจัยที่มีศักยภาพ เข้าใจปัญหาจริงของพื้นที่ สามารถตั้งคำถามวิจัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ นำไปสู่การพัฒนาโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ สนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ

ตลอดวันแรกของการอบรม ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้

  • Session 1: ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัยด้านการศึกษา

  • Session 2: จากปัญหาในห้องเรียนสู่คำถามวิจัย (พร้อมกรณีศึกษา)

  • Session 3: แนวโน้มและทิศทางในอนาคตของการวิจัยด้านการศึกษา (กิจกรรมกลุ่ม)

  • Session 4: การตั้งคำถามวิจัยและพัฒนาโครงร่างแนวคิด (Conceptual Framework) (กิจกรรมกลุ่ม)

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้แก่

  • รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ ปัญจบุรี อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการสมาคมการศึกษาดิจิทัลและวิศวกรรมการเรียนรู้

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมการศึกษาดิจิทัลและวิศวกรรมการเรียนรู้

  • กิจกรรมในวันที่สอง (3 กรกฎาคม 2568)

และวันที่สองเน้นการต่อยอดจากแนวคิดสู่ข้อเสนอโครงการวิจัย โดยเฉพาะการบูรณาการเทคโนโลยี Generative AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย ประกอบด้วย

  • บรรยาย: ทบทวนเนื้อหาและตั้งเป้าหมายส่วนบุคคล

  • Session 5: องค์ประกอบของข้อเสนอโครงการวิจัย และกรณีศึกษาข้อเสนอโครงการที่ประสบความสำเร็จ (กิจกรรมกลุ่ม)

  • Session 6 - 7: การใช้เครื่องมือ GenAI เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัย (กิจกรรมเชิงปฏิบัติการ)

  • Session สุดท้าย: อภิปรายและนำเสนอร่างหัวข้องานวิจัยทางการศึกษา พร้อมข้อเสนอโครงการวิจัย

การอบรมครั้งนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านงานวิจัย เพื่อให้สามารถสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน และสนับสนุนทิศทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะ Generative AI มาเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยในยุคดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

 









ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon