เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 23 มิถุนายน 2566 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 1 คน
สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการวิจัย" SROI
วันที่ 22 มิถุนายน 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.ธีระศักดิ์ อุรัจนานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและกิจการนักศึกษา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการวิจัย" ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2566 ณ กรีนเลครีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการวิจัย" มีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานด้านการวัดผลลัพธ์ทางสังคม และการคำนวณผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน และเพื่อให้นักวิจัยนำความรู้ที่ได้ไปวิเคราะห์ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนของโครงการวิจัย ซึ่งผลการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยอื่นๆ และต่อมหาวิทยาลัยในการนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสนับสนุนเงินทุนวิจัยที่เหมาะสม
ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จารึก สิงหปรีชา อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ารประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากการดำเนินงานโครงการวิจัย
"การลงทุนในงานวิจัย" เป็นการลงทุนทางสังคมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ด้วยเงินทุนวิจัยที่มีจำกัดทำให้รัฐบาลและหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยต้องมั่นใจว่าเงินทุนที่จัดสรรให้แก่โครงการวิจัยต่างๆ ถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ และก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และส่ิ่งแวดล้อมที่คุ้มค่า
"การประเมินคุณค่าของโครงการวิจัย" เริ่มจากการประเมินผลผลิต (Output) ตามด้วยผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) อาจกล่าวได้ว่า เป็นการประเมินว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยพื้นฐาน จะสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยประยุกต์และต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำการประเมินว่าโครงการวิจัยหรือชุดโครงการวิจัยที่นักวิจัยได้รับการสนับสนุนเงินทุน การวิจัย และดำเนินการวิจัยเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์โดยกลุ่มเป้าหมายใดบ้าง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายสนับสนุนการวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีคณาจารย์ บุคลากร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร และจากเขตพื้นที่ เชียงราย ลำปาง และน่าน กว่า 40 ท่าน
ขอบคุณภาพจากคุณเจษฎา สุภาพรเหมินทร์
คลังรูปภาพ : 2566-06-22 SROI workshop