เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 5 พฤศจิกายน 2567 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 2 คน
วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2567 เวลา 13.30 น. ผศ.ดร.พชร สายปาระ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร รับมอบหมายจากผู้อำนวยการสำนักงานบริหาร เข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนจังหวัดน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุม วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน
จังหวัดน่านได้จัดประชุมขับเคลื่อนสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO เตรียมพร้อมส่งใบสมัครมกราคม 2568 โดยมี นางวจิราพร อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน , นายนพรัตน์ ถาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน , พระสุนทรมุนี รองเจ้าคณะจังหวัดน่าน , นายบัณฑูร ล่ำซำ รองประธานมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน และหน่วยงานองค์กรเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีองค์การบริหารจังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานการดำเนินการ
การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านในฐานะฝ่ายเลขาฯ ได้จัดการประชุมคณะทำงานจัดทำใบสมัครฯ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดส่งข้อมูลส่งให้กับทางทีมเลขาฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำมาใช้ในการเขียนใบสมัคร และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ณ น่านกรีนเลควิว รีสอร์ท จัดประชุมสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็น สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะ พื้นบ้าน ในการประชุมครั้งนั้นมีการจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่าง จังหวัดน่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวน 99 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในส่วนของใบสมัคร ดร.พิมลพรรณ สกิดรัมย์ เสนอให้ที่ประชุมทราบเรื่องของแบบฟอร์มใบสมัครเมืองสร้างสรรค์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ฝ่ายเลขาฯ โดยคณะทำงานใบสมัครได้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นฟอร์ม หรือใบสมัคร ยูเนสโกประกาศแบบฟอร์มใบสมัครเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ( Unesco Creative cities network call for Applications 2025) และ Application Guidelines เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 และได้ประกาศเพิ่มสาขาของเมืองสร้างสรรค์ จากเดิม 7 สาขา เป็น 8 สาขา ดังนี้ 1. Media Arts 2. Crafts and Folk Art 3. Design 4. Film 5. Gastronomy 6. Literature 7. Music 8. Architecture ในส่วนของจังหวัดน่านเสนอด้าน 2 คือ Crafts and Folk Art ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยคณะทำงานได้จัดทำ Time Line ในการดำเนินการจัดทำใบสมัครเมืองสร้างสรรค์ของจังหวัดน่าน เพื่อรวบรวมข้อมูลในการเขียนใบสมัคร เตรียมความพร้อมหลักฐาน เอกสาร เพื่อยื่นใบสมัครภายในวันที่ 31 มกราคม 2568
ขอบคุณภาพ/ข่าว : องค์การบริหารจังหวัดน่าน