เผยแพร่เมื่อ : อาทิตย์ 6 เมษายน 2568 โดย สกนธ์ เรืองฉาย จำนวนผู้เข้าชม 3 คน
วันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 คณาจารย์และบุคลากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน ได้ร่วมพิธีทำบุญถวายพระราชกุศล ถวายต้นกุ่มดอกไม้สด และถวายสักการะพระเจ้าน่าน เนื่องในวันคล้ายวันถึงแก่พิราลัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 ประจำปี 2568 โดย...
- เวลา 06.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติสร เรืองนาราบ รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ พร้อมคณาจารย์ ร่วมตักบาตรเติมบุญถวายพระราชกุศล ณ บริเวณหน้าคุ้มหลวงนครน่าน-หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
- เวลา 06.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กันยาพร ไชยวงศ์ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมคณาจารย์และบุคลากร ร่วมพิธีสักการะพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เนื่องในวันพระเจ้าน่าน ประจำปี 2568 ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มณฑลทหารบกที่ 38 ค่ายสุริยพงษ์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
- เวลา 17.30 น. อาจารย์ศิริลักษณ์ นรินรัตน์ หัวหน้าหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารสากล คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ พร้อมคณาจารย์ ร่วมพิธีถวายต้นกุ่มดอกไม้สดถวายสักการะ พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ อดีตเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 63 เนื่องในวันพระเจ้าน่าน ประจำปี 2568 ณ ลานสนามหญ้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
เนื่องในวันคล้ายวันถึงแก่พิราลัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน วันที่ 5 เมษายน สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 107 ที่ เจ้าผู้ครองนครน่านในอดีตได้ถึงแก่พิราลัย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สถาปนาเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เลื่อนพระฐานันดรศักดิ์ขึ้นเป็น พระเจ้านครน่าน นับเป็นพระเจ้านครน่านองค์แรกและองค์เดียวในประวัติศาสตร์น่าน ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 25 ปี ที่ปกครองนครน่าน ได้ประกอบกรณียกิจหลายประการ เช่นด้านการปกครอง ได้ปกครองบ้านเมืองด้วยความสุจริต โอบอ้อมอารี ด้านการทหาร ได้บำรุงกิจการทหารอย่างเข้มแข็ง มีการยกทัพไปช่วยสมทบกับกองทัพของสยามในการรบ และทรงเป็นผู้สนับสนุนการจัดตั้งกองทหารแบบสมัยใหม่ โดยยกที่ดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของคุ้มแก้วหอคำเวียงเหนือ ให้เป็นที่ตั้งของกองทหารแบบสมัยใหม่ โดยในปัจจุบันคือบริเวณ “ค่ายสุริยพงษ์ ด้านการพัฒนาเมือง ได้ส่งเสริมให้มีการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ การจัดผังเมือง โครงสร้างพื้นฐานของเมือง ด้านการศาสนา ได้สนับสนุนการพระศาสนา มีการบูรณะศาสนสถาน และศาสนวัตถุ พร้อมทั้งมิได้ปิดกั้นการเผยแผ่ศาสนาของคณะมิชชันนารีที่น่าน ด้านการศึกษา ได้ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาบ้านเมือง โปรดให้สร้างโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นเมื่อปี 2450 โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนสุริยานุเคราะห์” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร จังหวัดน่าน” นอกจากนี้ยังโปรดให้แสนหลวงราชสมภาร ชำระและเรียบเรียงพงศาวดารเรื่อง “ราชวงษ์ปกรณ์พงศาวดารเมืองน่าน” ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองน่าน แม้พระองค์ท่านจะถึงแก่พิราลัยไปแล้ว แต่เกียรติคุณยังอยู่ในความทรงจำของชาวน่านมิเสื่อมคลาย
ภาพ : คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์